ชง’ก.ค.ศ.’เพิ่มอัตรากำลังครูอาชีวะ หลังยอดขาดแคลนพุ่งกว่า2หมื่นคน ‘ธนุ’ ถก ‘อัมพร’ขอใช้ตำแหน่งติดล็อก

การศึกษา ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้หารือ กับนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อขออัตรากำลังคงเหลือ มาใช้ในการจัดจ้างพนักงานราชการแทนตำแหน่งว่าง เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู สังกัด สำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งจากข้อมูลยังขาดแคลนครูอยู่กว่า 20,000 อัตรา ทั้งนี้ นายอัมพรเข้าใจและพร้อมให้ความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน พิจารณารับรอง อัตราขาดแคลนครู เพื่อเสนอขอของบประมาณ จัดสรรจ้างครูอัตราจ้างทดแทนอัตราขาดแคลนต่อไป นอกจากนี้ จะทำเรื่องไปขอตำแหน่งพนักงานราชการหน่อยงานอื่น ๆ ที่ยังมีอัตรากำลังคนเหลือเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการด้วยว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า บางวิทยาลัยขาดครูกว่า 200 คน เช่น วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ มีนักศึกษากว่า 7,000 คน ถือเป็นวิทยาลัยขนาดใหญ่ แต่ขาดแคลนครู 200 กว่าคน เช่นเดียวกับวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ที่ประสบปัญาหาขาดแคลนครูจำนวนมาก โดยได้มอบให้นายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการกอศ. ไปวิเคราะห์ข้อมูลว่าสถาบันใดขาดแคลนบุคคลกรมากที่สุด และสถาบันใดที่มีอัตราครูเกิน โดยให้แยกเป็นกลุ่มๆ คือ กลุ่มวิทยาลัยเทคนิค กลุ่มวิทยาลัยอาชีวศึกษา กลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) กลุ่มวิทยาลัยสารพัดช่าง และกลุ่มวิทยาลัยการอาชีพ ให้แล้วเสร็จภายในนสัปดาห์นี้ รวมถึงส่งหนังสือถึงวิทยาลัยทุกแห่ง ให้สำรวจอัตราว่างและความต้องการ แต่ละตำแหน่ง เพื่อดำเนินการเกลี่ยอัตรากำลังคนภายในจากวิทยาลัยที่มีครูเกินก่อน และเมื่อได้อัตรากำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มอีกจะเร่งดำเนินการบรรจุแต่งตั้งทดแทนตำแหน่งว่างทันที เพื่อไม่ให้กระทบกับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

เพิ่มอัตรากำลังครูอาชีวะ

“จากการหารือ เบื้องต้นนายอัมพร เข้าใจปัญหา และพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

การศึกษา เพราะในส่วนของสพฐ. เอง แม้จะได้อัตรากำลังคืนจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) แต่ก็ติดล็อก ไม่สามารถใช้อัตรากำลังดังกล่าวได้ เนื่องจาก คปร.กำหนดว่า จะไม่มีการบรรจุแต่งตั้งทดแทนอัตราเกษียณในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ดังนั้น หาก สพฐ.มีอัตรากำลังคนเหลือ และใช้ไม่ได้ สอศ.ก็จะขอความอนุเคราะห์โอนตำแหน่งที่เหลือมาให้ สอศ. ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นใจ เข้าใจปัญหาของ สอศ. เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรร่วมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยก เด็กอาชีวะ หรือเด็กสายสามัญ และในอนาคต สอศ.จะเข้าไปช่วยเหลือสพฐ. โดยจัดการศึกษาในรูปแบบทวิศึกษาในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ รวมถึงโรงเรียนที่มีความพร้อม เพื่อช่วยเหลือให้เด็กด้อยโอกาส สามารถมาเรียนสายอาชีพและสายสามัญไปพร้อมกันได้ และเมื่อจบการศึกษาก็จะได้วุฒิ ม.6 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทันที ทั้งนี้สอศ.ตั้งเป้าหมายว่าต่อไป อาชีวะจะสร้างคน สร้างชาติ พัฒนาประเทศ พัฒนาคนที่มีสมรรถนะสูง ประกอบกับปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าเรียนอาชีวะจำนวนมาก หากยังมีปัญหาขาดครูอยู่ก็จะไม่สามารถพัฒนาคนให้มีสมรรถนะสูงได้” เลขาธิการกอศ. กล่าว

แนะนำข่าวข่าวการศึกษา อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : บิ๊กตู่ เปิดประชุมวิชาการเอเปค ชี้เป็นโอกาสดีที่ นักวิจัย-นักวิทย์-ผู้นำธุรกิจ